ประวัติ ของ อุษา นารายณัน

อุษามีนามเดิมว่า ทินต์ ทินต์ เกิดที่ประเทศพม่า[2] สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยร่างกุ้ง หลังจากนั้นจึงประกอบกิจเป็นอาจารย์พิเศษในภาควิชาภาษาพม่าและวรรณคดี[2] ก่อนรับทุนไปศึกษาต่อ ณ โรงเรียนสังคมสงเคราะห์เดลี (Delhi School of Social Work) และรับปริญญาโทในสาขาที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเกี่ยวกับการกระทำผิดในเด็กและเยาวชน[2]

เธอพบกับโกจเจรีล รามัน นารายณันตั้งแต่ยังทำงานอยู่ในประเทศพม่า ทั้งนี้เธอเคยทำงานอยู่ในสมาคมเยาวนารี (World Young Women's Christian Association) เมื่อเธอได้ยินว่านารายณันเป็นนักศึกษาของแลสกี (Laski) เธอจึงเริ่มมีปฏิสันถารด้วย โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับเสรีภาพทางการเมือง หลังจากนั้นทั้งสองจึงสมรสกันเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2494 ในเดลี การสมรสของทั้งสองได้รับการยกเว้นเป็นพิเศษจากความช่วยเหลือของชวาหระลาล เนห์รูเพราะเธอถือสัญชาติพม่า หลังสมรสเธอจึงรับสัญชาติอินเดียและเปลี่ยนชื่อเป็น "อุษา" ทั้งสองมีบุตรสาวด้วยกันสองคน คนแรกชื่อจิตรา เป็นเอกอัครราชทูตประจำสวิตเซอร์แลนด์และสันตะสำนัก และบุตรสาวอีกคนชื่อ อมฤตา

หลังสามีขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศอินเดีย อุษาจึงเป็นสตรีต่างชาติที่ดำรงตำแหน่งสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนที่สองของประเทศ ซึ่งคนแรกคือชานกี เวนกทรมัณ (Janaki Venkataraman) ภริยาชาวพม่าเชื้อสายอินเดียของรามสวามี เวนกทรมัณ ประธานาธิบดีคนก่อนหน้านี้

หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากโรงเรียนสังคมสงเคราะห์เดลี เธอจึงมีบทบาทยิ่งด้านการเป็นนักสังคมสงเคราะห์สำหรับสตรีและเด็กในอินเดีย[3] นอกจากนี้เธอยังมีงานแปลและตีพิมพ์เรื่องสั้นภาษาพม่าหลายเล่ม เป็นต้นว่า รวมเรื่องชื่อ "Sweet and Sour" ที่แปลจากผลงานของเตน เพ มยิน (Thein Pe Myint) ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2541

อุษา นารายณันถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเวลา 17.30 น. ของวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2558 ณ โรงพยาบาลเซอร์คังคาราม เดลี ประเทศอินเดีย สิริอายุ 84 ปี[4]